วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

พระรอดลำพูนพระชุดเบญจภาคี

พระรอดลำพูนพระชุดเบญจภาคีอายุมากที่สุด : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
           พระรอดกรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีที่มีอายุมากที่สุด เป็นศิลปะทวารวดี-ศรีวิชัย เป็นพระดินเผาทั้งสิ้น มีด้วยกันทั้งสิ้น ๖ พิมพ์ คือ พระรอดพิมพ์ใหญ่, พระรอดพิมพ์กลาง, พระรอดพิมพ์เล็ก, พระรอดพิมพ์ต้อ, พระรอดพิมพ์ตื้น และพระรอดพิมพ์บ่วงเงินบ่วงทอง ซึ่งพิมพ์สุดท้ายหาได้ยากที่สุด

            ราคาพระรอดที่เช่าซื้อกันในหลักหลายๆ ล้านนั้น นายอุดม กวัสสราภรณ์ หรือ "เสี่ยดม" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการพิจารณาพระเครื่องชุดเบญจภาคี บอกว่า เมื่อ ๕๐ ก่อน ไม่มีใครรู้จักพระรอด พระผงสุพรรณ พระคงลำพูน ที่ซื้อขายองค์ละเป็นแสนเป็นล้านในปัจจุบัน สมัยก่อนองค์ละ ๕ บาทเท่านั้น ถ้าสวยหน่อยองค์ละ ๑๐ บาท ทุกแผงริมถนนมีพระคงลำพูนขายเป็นของเล่น ไม่มีราคาค่างวดอะไร ส่วนใหญ่คนซื้อเขาแถมให้ฟรี


            สำหรับภาพพระรอดลำพูน พิมพ์ใหญ่ ที่นำมาเป็นพระองค์ครูนั้น ได้รับความเอื้อเฟื้อภาพจากคุณสมภพ ไทยธีระเสถียร หรือ อั้ง เมืองชล อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และประธานชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทย ว่ากันว่าหากใครอยากได้พระองค์นี้ไปครอบครองต้องใช้เงินอย่าง ๑๐ ล้านบาทเท่านั้น

            การแตกกรุของพระรอดลำพูนนั้น พระอธิการทา อดีตเจ้าอาวาสวัดพระคงฤาษี และพระอาจารย์บุญธรรม วัดพระธาตุหริภุญชัย ได้บันทึกไว้ว่า พ.ศ.๒๔๓๕ ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระเจดีย์ของวัดมหาวันได้ชำรุดและพังลงบางส่วน ทางวัดจึงทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ในการรื้อบางส่วนได้พบพระรอดจำนวนมาก เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจึงบรรจุไว้ตามเดิม

            พ.ศ.๒๔๕๑ ฐานพระเจดีย์ชำรุด จึงทำการบูรณะอีก ได้พบพระรอดจำนวนมาก จึงนำออกแจกจ่ายแก่ข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก และเรียกพระรอดชุดนี้ว่า พระรอดกรุเก่า

            พ.ศ.๒๔๙๘ ขุดพบพระรอดบริเวณหน้าวัด และใต้ถุนกุฏิกว่า ๓๐๐ องค์

            พ.ศ.๒๕๐๖ ทางวัดได้รื้อพื้นพระอุโบสถ พบพระรอดกว่า ๓๐๐ กว่าองค์ ต่อมาภายหลังก็มีการขุดพบเรื่อย ๆ แต่ไม่มากนัก รวมเรียกพระรอดกรุใหม่

            ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๔ ทางวัดทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ จึงมีการประมูลให้ขุดค้นหาพระรอด เพื่อหาเงินมาสร้างพระอุโบสถ โดยมีกฎเกณฑ์การประมูลว่า ค่าประมูลขุด ๔ ตารางเมตร ราคา ๑๗๐,๐๐๐ บาท ให้เวลา ๔  ชั่วโมง ผู้ขุดจะได้หรือไม่ได้ ทางวัดก็ได้เงินจำนวนนั้น

            พ.ท.สมเกียรติ ซึ่งเป็นบุตรชายของบริษัทสยามฟาร์ม ซึ่งมีฐานะระดับเศรษฐีระดับต้น ๆ ของเมืองไทยสมัยนั้น ได้เข้าร่วมประมูลด้วย และพบพระรอดพิมพ์ต้อจำนวนหนึ่ง ได้มากว่า ๙๐๐ องค์

คัดลอกบทความมาจาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/109492

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น